กระบวนการต่างๆ โดย กรมวิชาการ กระทวงศึกษาธิการ
แนวคิดเกี่ยวกับทักษะกระบวนการกระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษาและกรมศึกษาเอกชน ได้สนับสนุนให้มีการพิจารณานำกระบวนการเรียนรู้แบบต่างๆไปใช้ในการเรียนการสอน โดยเสนอแนะกระบวนการที่ครูควรใช้ 12 กระบวนการด้วยกัน ดังนี้1. ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น 2. กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด 3. กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 4. กระบวนการแก้ปัญหา 5. กระบวนการสร้างความตระหนัก 6. กระบวนการปฏิบัติ 7. กระบวนการคณิตศาสตร์ 8. กระบวนการเรียนภาษา 9. กระบวนการกลุ่ม 10. กระบวนการสร้างเจตคติ 11. กระบวนการสร้างค่านิยม 12. กระบวนการเรียนความรู้ความเข้าใจ |
กระบวนการต่างๆ ยังมีอีกมากแต่ละกระบวนการไม่ได้กำหนดขั้นตอนไว้ตายตัว เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนเอาไว้เป็นแนวทางดังนี้ 1. ทักษะกระบวนการ มีขั้นตอนดังนี้ 1.1 ตระหนักในปัญหาและความจำเป็น ครูยกสถานการณ์ตัวอย่างให้ผู้เรียนเข้าใจและตระหนักในปัญหา ความจำเป็นของเรื่องที่จะศึกษาหรือเห็นประโยชน์ ความสำคัญของการศึกษานั้นๆ โดยครูอาจนำเสนอเป็นกรณีตัวอย่าง หรือสถานการณ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาความขัดแย้งของเรื่องที่จะศึกษาโดยใช้สื่อประกอบ เช่นรูปภาพ วิดีทัศน์ สถานการณ์จริง กรณีตัวอย่าง สไลด์ ฯลฯ 1.2 คิดวิเคราะห์วิจารณ์ ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ ตอบคำถาม แบบฝึกหัด ข้อมูลและให้โอกาสผู้เรียนแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่ม หรือรายบุคคล 1.3 สร้างทางเลือกให้หลากหลาย เป็นโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างหลากหลายโดยร่วมกันคิดเสนอทางเลือก และอภิปรายข้อดีข้อเสียของทางเลือกนั้นๆ 1.4 ประเมินและเลือกทางเลือก ให้ผู้เรียนพิจารณาตัดสินเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาโดยร่วมกันสร้างเกณฑ์ที่ต้องนึกถึงปัจจัย วิธีดำเนินการ ผลผลิต ข้อจำกัด ความเหมาะสม กาลเทศะ เพื่อใช้ในการพิจารณาการเลือกแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งอาจใช้วิธีระดมพลังสมอง อภิปราย ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม 1.5 กำหนดและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ ให้ผู้เรียนวางแผนการทำงานของตนเองหรือกลุ่ม อาจใช้ลำดับขั้นการดำเนินงานดังนี้ 1.5.1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 1.5.2 กำหนดวัตถุประสงค์ 1.5.3 กำหนดขั้นตอนการทำงาน 1.5.4 กำหนดผู้รับผิดชอบ (กรณีทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม) 1.5.5 กำหนดระยะเวลาการทำงาน 1.5.6 กำหนดวิธีการประเมินผล 1.6 ปฏิบัติด้วยความชื่นชม เป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ด้วยความสมัครใจ ตั้งใจมีความกระตือรือร้นและเพลิดเพลินกับการทำงาน 1.7 ประเมินระหว่างปฏิบัติ ผู้เรียนได้สำรวจปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานโดยการซักถามอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามขั้นตอนและตามแผนที่กำหนดไว้ โดยสรุปผลการทำงานแต่ละช่วง แล้วนำเสนอแนวทางการปรับปรุงการทำงานขั้นต่อไป 1.8 ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ผู้เรียนนำผลที่ได้จากการประเมินในแต่ละขั้นตอนมาเป็นแนวทางในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 1.9 ประเมินผลรวมเพื่อให้เกิดความภูมิใจ ผู้เรียนสรุปผลการดำเนินงาน โดยการเปรียบเทียบผลงานกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และผลพลอยได้อื่นๆ ซึ่งอาจเผยแพร่ขยายผลงานแก่ผู้อื่นได้รับด้วยความเต็มใจ 2. กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด มีขั้นตอนดังนี้ 2.1 สังเกต ให้ผู้เรียนรับรู้ข้อมูล และศึกษาด้วยวิธีการต่างๆโดยใช้สื่อประกอบเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดข้อกำหนดเฉพาะด้วยตนเอง 2.2 จำแนกความแตกต่าง ให้ผู้เรียนบอกข้อแตกต่างของสิ่งที่รับรู้และให้เหตุผลในความแตกต่างนั้น 2.3 หาลักษณะร่วม ผู้เรียนมองเห็นความเหมือนในภาพของสิ่งที่รับรู้และสรุปเป็นวิธีการ หลักการ คำจำกัดความ นิยามได้ 2.4 ระบุชื่อความคิดรวบยอด ผู้เรียนได้ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่รับรู้ 2.5 ทดสอบและนำไปใช้ ผู้เรียนได้ทดลอง ทดสอบ สังเกต ทำแบบฝึกหัด ปฏิบัติ เพื่อประเมินความรู้ |
3. กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นความสามารถทางกระบวนการทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ เกิดความจำ เข้าใจ จนถึงขั้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าตามแนวของ BLOOM แนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นแนวคิดของ GAGNE ที่เป็นกระบวนการเริ่มจากสัญลักษณ์ทางภาษาจนโยงเป็นความคิดรวบยอด เป็นกฎเกณฑ์และนำกฎเกณฑ์ไปใช้และเพื่อให้ง่ายต่อการสอนซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เป็นขั้นๆ อาจจะเลือกใช้เทคนิคใดก่อนหลังก็ได้ขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แต่ควรพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนผ่านขั้นตอนย่อยทุกขั้นตอน 3.1 สังเกต เน้นการให้ทำกิจกรรมรับรู้แบบปรนัย เข้าใจ ได้ความคอดรวบยอด เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ สรุปเป็นใจความสำคัญครบถ้วน ตรงตามหลักฐานข้อมูล 3.2 อธิบาย ให้ผู้เรียนตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น เชิงเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กำหนดเน้นการใช้เหตุผลด้วยหลักการกฎเกณฑ์ อ้างหลักฐานข้อมูลประกอบให้น่าเชื่อถือ 3.3 รับฟัง ให้ผู้เรียนได้ฟังความคิดเห็นได้ตอบคำถามวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นที่มีต่อความคิดของตน เน้นการปรับเปลี่ยนความคิดเดิมของตนตามเหตุผลหรือข้อมูลที่ดี โดยไม่ใช้อารมณ์หรือดื้อเพ่งต่อความคิดเดิม 3.4 เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ให้ผู้เรียนได้เปรียบเทียบความแตกต่าง และความคล้ายคลึงของสิ่งต่างๆให้สรุปจัดกลุ่มสิ่งที่เป็นพวกเดียวกัน เชื่อมโยงเหตุการณ์เชิงหาเหตุและผล หากกฎเกณฑ์การเชื่อมโยงในลักษณะอุปมาอุปมัย 3.5 วิจารณ์ จัดกิจกรรมให้วิเคราะห์เหตุการณ์ คำกล่าว แนวคิด หรือการกระทำ แล้วให้จำแนกหาจุดเด่น – จุดด้อย ส่วนดี- ส่วนเสีย ส่วนสำคัญ-ไม่สำคัญ จากสิ่งนั้นด้วยการยกเหตุผลหลักการมาประกอบการวิจารณ์ 3.6 สรุป จัดกิจกรรมให้พิจารณาส่วนประกอบของการกระทำหรือข้อมูลต่างๆที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน แล้วให้สรุปผลอย่างตรงและถูกต้องตามหลักฐานข้อมูล 4. กระบวนการแก้ปัญหา 4.1 สังเกต ให้นักเรียนได้ศึกษาข้อมูล รับรู้และทำความเข้าใจในปัญหาจนสามารถสรุปตระหนักในปัญหานั้น 4.2 วิเคราะห์ ให้ผู้เรียนได้อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อแยกแยะประเด็นปัญหา สภาพสาเหตุและลำดับความสำคัญของปัญหา 4.3 สร้างทางเลือก เป็นโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจมีการทดลอง ค้นคว้า ตรวจสอบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบกรณีที่ให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มควรมีการกำหนดหน้าที่ในการทำงาน 4.4 เก็บข้อมูลประเมินทางเลือก ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามแผนและบันทึกการปฏิบัติงาน เพื่อรายงานและตรวจสอบความถูกต้องของทางเลือก 4.5 สรุป เป็นการสังเคราะห์ความรู้ด้วยตนเอง อาจจัดทำในรูปของรายงาน 5. กระบวนการสร้างความตระหนัก เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนให้ความสนใจ เอาใจใส่ รับรู้ เห็นคุณค่าในปรากฏการณ์พฤติกรรมต่างๆทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ที่เกิดขึ้นในสังคม มีขั้นตอนดังนี้ 5.1 สังเกต ให้ข้อมูลที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เอาใจใส่ และเห็นคุณค่า 5.2 วิจารณ์ ให้ตัวอย่าง สถานการณ์ ประสบการณ์ตรง เพื่อให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์สาเหตุผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น ระยะยาว 5.3 สรุป ให้อภิปรายหาข้อมูลหรือหลักฐานมาสนับสนุนคุณค่าของสิ่งของที่จะต้องตระหนักและวางเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองในเรื่องนั้น |
6. กระบวนการปฏิบัติ เป็นกระบวนการที่มุ่งให้ผู้เรียนปฏิบัติจนเกิดทักษะ มีขั้นตอนดังนี้ 6.1 สังเกตรับรู้ ให้ผู้เรียนได้เห็นตัวอย่างหลากหลายจนเกิดความเข้าใจและสรุปความคิดรวบยอด 6.2 ทำตามแบบ ทำตามตัวอย่างที่แสดงให้เห็นทีละขั้นตอนจากขั้นพื้นฐานไปสู่งานที่ซับซ้อนขึ้น 6.3 ทำเองโดยไม่มีแบบ เป็นการให้ฝึกปฏิบัติชนิดครบถ้วนกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ต้นจนจนด้วยตนเอง 6.4 ฝึกให้ชำนาญ ให้ปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญ หรือทำได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจเป็นงานชิ้นเดิมหรืองานที่คิดขึ้นใหม่ 7. กระบวนการคณิตศาสตร์ กระบวนการนี้มี 2 วิธี คือสอนทักษะทางคิดคำนวณและสอนทักษะแก้ปัญหาโจทย์การสอนทักษะทางคิดคำนวณมีขั้นตอนย่อย คือ สร้างความคิดรวบยอดของคำ นิยามศัพท์ สอนกฎโดยวิธีอุปนัย (สอนจากตัวอย่างไปสู่กฎเกณฑ์ใหม่) ฝึกฝนวินิจฉัยปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องและเสริมแรง ส่วนการสอนทักษะแก้ปัญหาโจทย์ มีขั้นตอนย่อยคือ แปลโจทย์ในเชิงภาษา หาวิธีแก้ปัญหาโจทย์ วางแผน ปฏิบัติตามขั้นตอน และตรวจสอบคำถาม 8. กระบวนการเรียนภาษา เป็นกระบวนการที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาทักษะทางภาษา มีขั้นตอนดังนี้ 8.1 ทำความเข้าใจสัญลักษณ์ สื่อ รูปภาพ รูปแบบ เครื่องหมาย ผู้เรียนรับรู้เกี่ยวกับความหมายของคำ กลุ่มคำ ประโยคและถ้อยคำ สำนวนต่างๆ 8.2 สร้างความคิดรวบยอด ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงความรู้จากประสบการณ์ มาสู่ความเข้าใจและเกิดภาพรวมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนด้วยตนเอง 8.3 สื่อความหมาย ความคิด ผู้เรียนถ่ายทอดทางภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ 8.4 พัฒนาความสามารถ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามขั้นตอนคือความรู้ความจำ เข้าใจ นำไปใช้วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่าได้ 9. กระบวนการกลุ่ม เป็นกระบวนการมุ่งให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน โดยเน้นกิจกรรมดังนี้ 9.1 มีผู้นำกลุ่ม ซึ่งอาจผลัดเปลี่ยนกัน 9.2 วางแผนกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการ 9.3 รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกทุกคนบนพื้นฐานของเหตุผล 9.4 แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อมีการปฏิบัติ 9.5 ติดตามผลการปฏิบัติและปรับปรุง 9.6 ประเมินผลรวมและชื่นชมในผลงานของคณะ |
10. กระบวนการสร้างเจตคติ มีแทรกได้กับทุกเนื้อหา เน้นความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่เรียนอาจเป็นความคิด หลักการ การกระทำเหตุการณ์ สถานการณ์ ฯลฯ มีขั้นตอนดังนี้ 10.1 สังเกต พิจารณาข้อมูล เหตุการณ์ การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการมีเจตคติที่ดีและเจตคติที่ไม่ดี 10.2 วิเคราะห์ พิจารณาผลที่จะเกิดขึ้นตามมา แยกเป็นการกระทำที่เหมาะสมได้ผลตามที่น่าพอใจและกระทำที่ไม่เหมาะสมได้ผลตามที่ไม่น่าพอใจ 10.3 สรุป รวบรวมข้อมูลเป็นหลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติด้วยเหตุผลของความพอใจ 11. กระบวนการสร้างค่านิยม เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึก เกิดความยอมรับและเห็นคุณค่าด้วยตนเอง มีขั้นตอนดังนี้ 11.1 สังเกต ตระหนัก พิจารณาการกระทำที่เหมาะสมและการกระทำที่ไม่เหมาะสม รับรู้ความหมายจำแนกการกระทำที่แตกต่างได้ 11.2 ประเมินเชิงเหตุผล ใช้กระบวนการกลุ่มอภิปรายแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์วิจารณ์การกระทำของตัวละคร หรือบุคคลในสถานการณ์ต่างๆว่าเหมาะสมหรือไม่เพราะเหตุใด 11.3 กำหนดค่านิยม สมาชิกแต่ละคนแสดงความเชื่อ ความพอใจในการกระทำที่ควรกระทำในสถานการณ์ต่างๆพร้อมเหตุผล 11.4 วางแผนปฏิบัติ กลุ่มช่วยกันกำหนดแนวปฏิบัติในสถานการณ์จริงๆโดยมีครูร่วมรับทราบกติกา การกระทำและสำรวจสิ่งที่ผู้เรียนต้องการจะได้รับเมื่อได้กระทำดีแล้ว เช่น การได้ประกาศชื่อให้เป็นที่ยอมรับ 11.5 ปฏิบัติด้วยความชื่นชม ครูให้การเสริมแรงตามกติการะหว่างการปฏิบัติให้ผู้เรียนเกิดความชื่นชม ยินดี 12. กระบวนการเรียน ความรู้ความเข้าใจ ใช้กับการเรียนเนื้อหาเชิงความรู้ตามความจริง มีขั้นตอนดังนี้ 12.1 สังเกต ตระหนัก พิจารณาข้อมูล สาระความรู้ เพื่อความสร้างความคิดรวบยอด กระตุ้นให้ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ และกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เป็นแนวทางที่จะแสวงหาคำตอบต่อไป 12.2 วางแผนปฏิบัติ นำวัตถุประสงค์หรือคำถามที่ทุกคนสนใจจะหาคำตอบมาวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม 12.3 ลงมือปฏิบัติ กำหนดให้สมาชิกในกลุ่มย่อย ๆ ได้แสวงหาคำตอบจากแหล่งความรู้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ค้นคว้า ศึกษานอกสถานที่ หาข้อมูลจากองค์กรในชุมชน ฯลฯ ตามแผนที่วางไว้ 12.4 พัฒนาความรู้ความเข้าใจ นำความรู้ที่ได้มารายงานและอภิปรายเชิงแปลความ ตีความ ขยายความ นำไปใช้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า 12.5 สรุป รวบรวมเป็นสาระที่ควรรู้บันทึกลงสมุดของผู้เรียน |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น