วิธีการสอนแบบสตอรี่ไลน์ (Story line method)

วิธีการสอนแบบสตอรี่ไลน์ (Story line method)


วิธีการสอนแบบสตอรี่ไลน์ (Story line method)
แนวคิดทฤษฎีที่ใช้        
การเรียนรู้แบบ Story line เป็นการสอนวิธีหนึ่งที่ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตจริง ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรอง รวมทั้งกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อจะเป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าควรทำ ไม่ควรทำ ควรเชื่อ ไม่ควรเชื่อ อันจะนำไปสู่การตัดสินใจ การแก้ปัญหา ตลอดจนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สิ่งดีสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยการใช้หลักสูตรบูรณาการเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง การมีส่วนร่วมของผู้เรียนเอง ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้คุณค่าและสร้างผลงานได้ผลการเรียนรู้มีความคงทน เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง วิธีดังกล่าวเป็นผลการค้นพบของสตีฟ เบลล์ และแซลลี่ ฮาร์ดเนส (Steve Bell and Sally Hardness) นักการศึกษาชาวสก็อต ซึ่งสตีฟเบลล์ เรียกว่า การจัดการเรียนรู้ที่เป็นสตอรี่ไลน์ (Story line approach) และยังเรียกว่าวิธีสตอรี่ไลน์ (Story line method)
วิธีสอนแบบสตอรีไลน์ เป็นวิธีที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จะมีการผูกเรื่องแต่ละตอนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรียงลำดับเหตุการณ์ หรือที่เรียกว่า กำหนดเส้นทางเดินเรื่อง โดยใช้คำถามหลักเป็นตัวนำ สู่การให้ผู้เรียนทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนตามสภาพจริง ที่มีการบูรณาการระหว่างวิชา เพื่อเป้าหมายพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทั้งตัว

ลักษณะเด่นของวิธีสอน 
1.กำหนดเส้นทางการเดินเรื่อง (Storyline) และจัดเรียงเป็นตอนๆ (Episode) ด้วยการใช้คำถามหลัก (Key Questions)เป็นตัวกำหนดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้
2.เน้นการใช้กิจกรรม (Activity Based Approach) ให้สอดคล้องกับคำถามหลัก และเนื้อหาการผูกเรื่อง ซึ่งมีดังนี้
1) ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนมากที่สุด
2) ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
3) ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยเน้นกระบวนการควบคู่กับความรู้
4) เน้นการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
3.เน้นให้ผู้เรียนสร้าง (Construct) ความรู้ด้วยตนเอง โดยมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉง เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย สามารถพัฒนาผู้เรียน ทั้งด้านสติปัญญา (Head) ด้านอารมณ์ เจตคติ (Heart) และด้านทักษะปฏิบัติ (Hands) เป็นวิธีสอนที่ให้อำนาจแก่ ผู้เรียน (Learner Empowerment) คือ ให้โอกาสสร้างความรู้หรือปรับแต่งโครงสร้างความรู้ด้วย ตนเองอย่างเป็นอิสระ และแสดงถึงกระบวนการในการได้มาซึ่งความรู้นั้นๆ รับผิดชอบต่อ ความรู้ที่สร้างขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Long Life Learning)
4.เป็นการเรียนตามสภาพจริง (Authentic Learning) มีการบูรณาการระหว่างวิชา (Integration)
5.มีเหตุการณ์ (Incidents) เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้แก้ไขปัญหาและเรียนรู้
6.แต่ละเรื่อง หรือแต่ละเหตุการณ์ที่กำหนด ต้องมีการระบุสิ่งต่อไปนี้ หรือมีองค์ประกอบต่อไปนี้
1) กำหนดฉาก โดยระบุสถานที่และเวลาโดยเฉพาะ
2) ตัวละคร อาจเป็นคนหรือเป็นสัตว์
3) วิถีการดำเนินชีวิตเพื่อใช้ศึกษา
4) ปัญหาที่รอการแก้ไข

บทบาทของครูและผู้เรียนเมื่อใช้วิธีสอนแบบสตอรีไลน์
บทบาทของครู
1.เป็นผู้เตรียมการ ในเรื่องต่างๆ ได้แก่
1)กรอบแนวคิดของเรื่องที่จะสอนโดยเขียนเส้นทางการเดินเรื่อง (Storyline) และกำหนดเรื่องเป็นตอนๆ (Episode) โดยแต่ละหัวข้อเรื่องในแต่ละตอนได้จากการบูรณาการ
2)เตรียมคำถามสำคัญหรือคำถามหลัก เพื่อใช้กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์และลงมือปฏิบัติ
2.เป็นผู้อำนวยความสะดวกระหว่างการเรียนการสอน เช่น
1)เป็นผู้นำเสนอ (Presenter) เช่น นำเสนอประเด็น ปัญหา เหตุการณ์ในเรื่องราวที่จะสอน
2)เป็นผู้สังเกต (Observer) สังเกตขณะผู้เรียนตอบคำถาม ถามคำถาม ปฏิบัติกิจกรรม รวมทั้งสังเกตพฤติกรรมอื่นๆ ของผู้เรียน
3) เป็นผู้ให้กระตุ้น (Motivator) กระตุ้นความสนใจ ผู้เรียน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเรียนอย่างแท้จริง
4) เป็นผู้ให้การเสริมแรง (Reinforcer) เพื่อให้เพิ่มความถี่ของพฤติกรรมการเรียน
5) เป็นผู้แนะนำ (Director)
6) เป็นผู้จัดบรรยากาศ (Atmosphere Organizor) ให้บรรยากาศการเรียนการสอนดีทั้งด้านกายภาพและด้านจิตสังคม เพื่อให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข
7)เป็นผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับ (Reflector) ให้การวิพากย์วิจารณ์ข้อดี ข้อบกพร่อง เพื่อให้พฤติกรรมคงอยู่ หรือปรับปรุง แก้ไข พฤติกรรมการเรียน
8)เป็นผู้ประเมิน (Evaluator) ควรมีการประเมินผลเป็นระยะๆ ประเมินกระบวนการ (Process) พฤติกรรมระหว่างหาความรู้ (Performance) และประเมินผลงาน (Product) ซึ่งอาจเป็นองค์ความรู้ และ/หรือ ผลงาน
3.เน้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการ (Process Oriented) มากกว่าเนื้อเรื่อง เนื้อหาสาระ (Content Oriented)
4.เน้นการบูรณาการระหว่างวิชา (Integration) หรือผสมผสานระหว่างวิชาในหลักสูตร (Interdisciplinary)
5.เป็นแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้แหล่งหนึ่งที่ให้ผู้เรียนซักถาม ปรึกษาเพื่อค้นคว้าหาความรู้
6.เป็นผู้ริเริ่มประเด็น ปัญหา เหตุการณ์ในเรื่องราวที่จะสอน และต้องจัดกิจกรรมเพื่อจบลงด้วยความตื่นเต้น ความพอใจ ทั้งครู ผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และคนในชุมนุม เป็นต้น

บทบาทของผู้เรียน
1.เป็นผู้ศึกษาค้นคว้าปฏิบัติด้วยตนเองในทุกเรื่องตามที่ครูกำหนด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
2.ดำเนินการเรียนด้วยตนเอง เพื่อให้การเรียนสนุกสนาน ตื่นเต้น มีชีวิตชีวา และท้าทายอยู่ตลอดเวลา
3.มีส่วนร่วมในการเรียนทั้งร่างกาย จิตใจและการคิด ในทุกสถานการณ์ที่ครูกำหนดขึ้น อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนสถานการณ์ในชีวิตจริง
4.เรียนทั้งในห้องเรียน (Class) และในสถานการณ์จริง (Reality) เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม
5.ตอบคำถามสำคัญ หรือคำถามหลัก (Key Questions) ที่ครูกำหนดจากประสบการณ์ของตนเอง หรือประสบการณ์ในชีวิตจริง
6.มีความกระฉับกระเฉง ว่องไว ในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น สามารถจำ พิจารณา ทำตามคำแนะนำของครูได้อย่างดี
7.ทำงานด้วยความร่วมมือร่วมใจ อาจจะทำงานเดี่ยว เป็นคู่ เป็นกลุ่ม ได้ด้วยความเต็มใจและด้วยเจตคติที่ดีต่อกัน
8.มีความสามารถในการสื่อสาร เช่น ฟัง พูด อ่าน เขียน มีทักษะสังคม รวมทั้งมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนในกลุ่ม เพื่อนในกลุ่มอื่นๆ และกับครู
9.เป็นผู้มีความสามารถแก้ปัญหา คิดริเริ่มสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์
10.เป็นผู้สามารถสร้างความรู้ (Construct) ด้วยตนเอง และเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ประโยชน์ของการเรียนรู้ด้วยวิธีสอนแบบสตอรีไลน์
1.เป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ผู้เรียนจำได้ถาวร (Retention) ซึ่งการเรียนแบบนี้ต้องเริ่มต้นด้วยการทบทวนความรู้เดิม และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
2.ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียน (Participate) ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม เป็นการพัฒนาทั้งตัว
3.ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมตามประสบการณ์ชีวิตของตน และเป็นประสบการณ์จริงในชีวิตของผู้เรียน
4.ผู้เรียนได้ฝึกทักษะต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่มีการเบื่อหน่าย
5.ผู้เรียนจะได้สร้างจินตนาการตามเรื่องที่กำหนด เป็นการเรียนรู้ด้านธรรมชาติ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง วิถีชีวิต ผสมผสานกันไป อันเป็นสภาพจริงของชีวิต
6.ผู้เรียนจะได้พัฒนาความคิดระดับสูง คิดไตร่ตรอง คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิด แก้ปัญหา คิดริเริ่ม คิดสร้างสรรค์
7.ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ คน คน คน รวมทั้งเพื่อนทั้งห้องเรียน ขึ้นอยู่กับลักษณะกิจกรรม เป็นการพัฒนาให้เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์
8.ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวสู่สิ่งไกลตัว เช่น เรียนตัวของเรา บ้านของเรา ครอบครัวของเรา ชุมชนของเรา ประเทศของเรา และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปตามระดับสติปัญญาของผู้เรียน
9.ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเป็นสุข สนุกสนาน เห็นคุณค่าของงานที่ทำ และงานที่นำไปนำเสนอต่อเพื่อนต่อชุมนุม ทำให้เกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตนเอง   Story Line เป็นเทคนิคการสอนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคิดค้นและพัฒนาในสกอตแลนด์ โดย สตีพ เบล ( Steve Bell ) และ ซัลลี่ ฮัคเนส ( Sallie Harkness )

องค์ประกอบที่สำคัญของ Story Lineการสร้างเรื่องใน Story Line เป็นการดำเนินเรื่องที่ต่อเนื่อง ประดุจเส้นเชือก โดยมี คำถามหลักเป็นตัวดำเนินการ องค์ประกอบที่สำคัญในการสอนแบบ Story Line คือ
1. ตัวละคร หมายถึงบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ผูกขึ้นมา
2. ฉาก หมายถึง การระบุลักษณะของสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏ ตามหัวเรื่อง
3. การดำเนินชีวิต หมายถึงการดำเนินชีวิตของตัวละคร ว่า ใครทำอะไรบ้าง
4. เหตุการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น หมายถุงเหตุการที่ดำเนินชีวิตของละคร เช่น
เหตุการณ์อะไรที่เป็นปกติ เหตุการณ์อะไรที่ต้องแก้ไข เหตุการณ์อะไรที่ต้องดีใจ หรือแสดงความยินดี

ขั้นตอนการสอนแบบเล่าเรื่อง (Story Line)
1.วิเคราะห์หลักสูตร โดยรวมของทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหัวข้อที่จะนำมาบูรณาการ
2.กำหนดเส้นทางเดินเรื่อง โดยเรียงลำดับหัวข้อแบ่งออกเป็นตอน ๆ ซึ่งต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 ประการ ได้แก่ ฉาก ตัวละคร การดำเนินชีวิต และเหตุการณ์สำคัญ ในส่วนรายละเอียดนั้นเป็นหน้าที่ของผู้เรียนในการเติมเต็มเรื่องราวต่าง ๆ
3.กำหนดคำถามหลักเพื่อใช้ในการเปิดประเด็นนำเข้าสู่กิจกรรม และเชื่อมโยงเรื่องราวและกิจกรรมในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน วางรูปแบบกิจกรรมย่อย ๆ โดยเน้นการจัดกิจกรรมที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมคิดปฏิบัติ เพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามหลักนั้น ๆ กิจกรรมควรมีความหลากหลายและน่าสนใจเหมาะสมกับวัยและความสามารถของผู้เรียน และควรเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
4.จัดเตรียมสื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับลักษณะของกิจกรรมและลักษณะการจัดชั้นเรียน
5.กำหนดแนวทางการประเมินผล ควรเน้นการประเมินตามสภาพจริงให้มากที่สุด

ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิธี Story line มีดังต่อไปนี้
1. กำหนดหัวข้อเรื่องที่จะเรียน เรียกว่า เส้นทางเดินเรื่อง (Story line) ให้เหมาะสม หัวข้อเรื่องจะเป็นความคิดรวบยอดหรือหัวข้อย่อยที่ผู้เรียนจะต้องเรียน โดยผูกเป็นโครงเรื่อง ซึ่งมาจากองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ ฉาก ตัวละคร การดำเนินชีวิตของตัวละคร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โครงเรื่องจะเป็นโครงสร้างของเนื้อหาสาระที่จะเรียน
2. การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้มีคำถามหลักหรือคำถามสำคัญ (Key Questions) คำถามหลักเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก จะทำหน้าที่ดำเนินเรื่องที่จะเชื่อมโยงแต่ละตอนให้ต่อเนื่องกัน คำถามหลักจะเชื่อมโยงเนื้อหาและกิจกรรมเข้าด้วยกัน
3. กิจกรรมของผู้เรียน ผู้เรียนจะทำกิจกรรมเพื่อตอบคำถาม โดยทำเป็นรายบุคคลหรือร่วมกันทำกิจกรรมอาจจับคู่กันทำกิจกรรม หรือจัดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-6 คน หรือร่วมกันทำทั้งห้อง โดยกำหนดสื่อหรืออุปกรณ์ที่จะใช้ในการทำกิจกรรม
4.  การประเมินการเรียนรู้ จะประเมินจากคำถามหลักและกิจกรรมเป็นการประเมินในสภาพจริง (authentic assessment) ที่สะท้อนให้เห็นผลจากการเรียนรู้ว่าผู้เรียนได้ทำอะไรในด้านการใช้ภาษา ด้านการทำงานร่วมกับเพื่อน ด้านการแก้ปัญหา และด้านความรู้ เป็นการประเมินด้านคุณภาพและผลการเรียนของผู้เรียน
5. กำหนดเวลาเรียนแต่ละตอน การสอน Story line ไม่จำเป็นต้องสอนโดยใช้เวลาต่อเนื่องกันเป็นเวลาทั้งวัน แต่ผู้สอนอาจแบ่งเวลาการสอนแต่ละตอนโดยกำหนดเวลาสอนแต่ละตอนตามที่กำหนดหัวข้อเรื่อง และกิจกรรมการเรียนบางตอนใช้เวลา 1 ชั่วโมง บางตอนอาจใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ต่อเนื่องกันแล้วแต่กิจกรรมการเรียน

การวัดและประเมินผล การวัดและประเมินผลในกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Story Line  เป็นการประเมินจากการสังเกตหรือ ประเมินจากผลงาน หรือชิ้นงานของนักเรียน ผู้สอนต้องเก็บข้อมูลแล้วแปลออกมาเป็นคุณภาพ เช่นการประเมินจากการจัดนิทรรศการและผลงานที่รวบรวมในแฟ้มสะสมผลงาน อาจให้นักเรียนเลือกผลงานที่นักเรียนพอใจ พร้อมอธิบายเหตุผลที่เลือกผลงานชิ้นนั้นมาประเมิน ความก้าวหน้าของพัฒนาการเด็ก โดยมีข้อคิดในการประเมิน ดังนี้
1. ประเมินเป็นระยะ
2. ครูควรมองการประเมินผลของเด็กในเชิงบวก
3. ให้เด็กมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชิ้นงานที่นักเรียน ชอบ ไม่ชอบ หรือชิ้นงานที่เขาภูมิใจ
4. ไม่ควรเปรียบเทียบผลงานเด็กกับเพื่อนๆ

แนวคิดหลักของการจัดการเรียนรู้แบบ Storyline
ทิศนา แขมมณี (2546 : 54) ได้กล่าวไว้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Storyline นี้ พัฒนาโดย ดร.สตีฟ เบ็ล และแซลลี่ ฮาร์คเนส (Steve Bell and Sally Harkness) จากสก็อตแลนด์ โดยมีแนวคิดหลักของทฤษฎี ดังนี้
1.การเรียนรู้ที่ดีควรมีลักษณะบูรณาการ หรือเป็นสหวิทยาการ คือเป็นการเรียนรู้ที่ผสมศาสตร์หลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน
2.การเรียนรู้ที่ดีเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นผ่านทางประสบการณ์ตรง หรือ การกระทำ หรือ การมีส่วนร่วมของผู้เรียนเอง
3.ความคงทนของผลการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเรียนรู้หรือวิธีการที่ได้รับความรู้มา
4.ผู้เรียนสามารถเรียนรู้คุณค่าและสร้างผลงานที่ดีได้ หากมีโอกาสลงมือกระทำ
ดารกา วรรณวนิช (2549 : 155) ได้กล่าวเพิ่มเติมแนวคิดของการจัดการเรียนรู้แบบ Storyline หรือที่เรียกว่า “การเรียนการสอนโดยการสร้างเรื่อง” ไว้ ดังนี้
1.ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
2.การบูรณาการหลักสูตร องค์ความรู้ ทักษะการเรียน และกระบวนการเรียนรู้ จากหลากหลายสาขาวิชา มีลักษณะเป็นการเรียนแบบบูรณาการสหวิทยาการ
3.การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงในสถานการณ์ต่างๆ
4.การเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม โดยส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Co–operative learning)
5.การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถในการเรียนรู้ของตนอย่างเต็มศักยภาพ
6.การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมุ่งพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) และทักษะการตัดสินใจ (Decision making skill) ผ่านกิจกรรมต่างๆ
7.ผู้เรียนเป็นผู้สร้าง (Construct) องค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยการค้นพบ (Discover) คำตอบ จากคำถามหลักที่ครูกำหนดขึ้น
8.การเชื่อมโยงองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้จากห้องเรียนออกไปสู่ชุมชนและชีวิตจริงของผู้เรียน
9.ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ สนุกสนาน มีชีวิตชีวา มีความสุข และตระหนักในคุณค่าของการจัดการเรียนรู้
กระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธี Storyline
ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Storyline

1.ข้อดี
การเรียนรู้เช่นนี้ ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเหมือนเป็นหุ้นส่วนกัน ครูวางโครงเรื่อง ผู้เรียนลงรายละเอียดที่มาจากประสบการณ์ชีวิต แล้วสร้างการเรียนรู้ใหม่ที่เชื่อมต่อจากความรู้เดิม มีการแลกเปลี่ยนความคิดและเคารพในความคิดเห็นของกันและกัน ผู้เรียนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในผลงานที่สร้าง และกลายเป็นแรงผลักดันให้มีการแก้ปัญหา หากมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ครูยังสามารถบูรณาการทุกวิชาได้ในทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันนักเรียนก็ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย เมื่อผู้เรียนมีความสุข จุดหมายของการเรียนรู้ก็นับได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว
นักเรียนจะเกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เรียน ในระดับที่สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ

2.ข้อจำกัด
-กิจกรรมนี้อาจเหมาะกับเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต
-ค่อนข้างใช้เวลาในการเรียนรู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น